Search
Close this search box.

แมกนีเซียม

แมกนีเซียม กลไกสำคัญในการสังเคราะห์แสง

     ส่วนเขียวๆ ที่เรามองเห็นจากต้นพืชเกิดจากสารที่เรียกว่าคลอโรฟิลล์ ซึ่งสารชนิดนี้ไม่ได้มีดีเพียงแค่ให้พืชมีสีเขียวที่เป็นสัญลักษณ์ประจำตัวหรือบ่งบอกสุขภาพของพืชเท่านั้น แต่คลอโรฟิลล์ยังมีหน้าที่ในการเปลี่ยนน้ำและก๊าชคาร์บอนไดออกไซด์ให้เป็นอาหารของพืชด้วยพลังงานจากแสงของดวงอาทิตย์ ซึ่งเราเรียกกระบวนการนี้ว่า “การสังเคราะห์แสง”

     เราจึงจะเห็นได้ว่าการขาดธาตุแมกนีเซียมอาจส่งผลให้ต้นพืชของเราอดอาหารตายได้เลยทีเดียว ด้วยเพราะธาตุชนิดนี้เป็นส่วนประกอบของคลอโรฟิลล์ และไม่มีเพียงเท่านี้แมกนีเซียมยังมีหน้าที่กระตุ้นการทำงานของเอนไซม์ต่างๆ ช่วยเคลื่อนย้ายฟอสฟอรัส ช่วยให้พืชไม่ชะงักการเจริญเติบโตในสภาพอากาศที่หนาวเย็นลงกว่าปกติ ช่วยต้านทานโรคพืช และมีส่วนสำคัญในการสุกแก่ของผลผลิตอีกด้วย

     อาการขาดแมกนีเซียมจะแสดงให้เห็นได้ที่ใบแก่เหลืองเป็นรูปลิ่มจากปลายมายังโคน หรือในพืชบางชนิดใบจะซีดจางและเส้นใบยังเขียวชัดเจน ขอบใบเป็นสีน้ำตาล ปลายใบไหม้ หากขาดมากจะส่งผลให้ใบร่วงอย่างรวดเร็ว ผลผลิตที่ได้ลดปริมาณลงเนื่องจากพืชสังเคราะห์อาหารได้น้อย ต้นทรุดโทรม

     วิธีแก้ไขต้องทำการปรับปรุงสภาพดินให้มี pH อยู่ที่ 6 – 7 เติมธาตุชนิดนี้ได้จากปุ๋ยอินทรีย์และสารปรับปรุงดินที่ช่วยในการปรับความเป็นกรดด่าง และในดินที่มีโพแทสเซียมอยู่สูงจะขัดขวางพืชให้ดูดซึมได้น้อย จึงต้องทำการปรับให้ดินมีโพแทสเซียมในปริมาณที่เหมาะโดยงดหรือลดปุ๋ยที่มีโพแทสเซียมลงแล้วหันมาใส่ปุ๋ยที่มีแมกนีเซียมทางใบแทน เช่น การฉีดพ่นด้วยแมกนีเซียมออกไซด์ 10 – 15 วันครั้ง เป็นต้น